น้ำผงซักฟอก “คุณค่า” สู่การใช้ต่อ

การซักผ้าเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ไม่ว่าซักแบบมือในกะละมัง ซักลงเครื่องซักผ้าฝาหน้า หรือซักลงเครื่องซักผ้าฝาบน ล้วนแล้วใช้น้ำทั้งสิ้น แต่น้ำเหล่านั้นซึ่งถูกใช้ในปริมาณมาก ไม่ต่ำกว่า 30 – 50 ลิตร และผ่านการผสมกับผงซักฟอก จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทิ้งไปเสียเปล่ากับปริมาณน้ำระดับนี้

ผงซักฟอกโดยทั่วไปนั้นมีสมบัติเป็นเบส (ด่าง) และในบางชนิดมีส่วนผสมของ “ฟอสเฟต” เมื่อผสมกับน้ำแล้ว น้ำเปลี่ยนสีเป็นขุ่น และฟองสีขาว บางชนิดมีการเติมกลิ่นหอมเข้าไป ไม่ว่ากลิ่นแบบดอกไม้ หรือกลิ่นแบบน้ำยาปรับผ้านุ่มเข้าไป พบได้ทั้งแบบผงและแบบน้ำในบรรจุภัณฑ์ต่างชนิดกันไป

เมื่อนำผงซักฟอกมาละลายน้ำและซักผ้า กระบวนการสมบัติของผงซักฟอกจะทำการชะล้างสิ่งสกปรกไม่ว่าจะเชื้อโรคหรือไขมันที่เกาะติดเป็นคราบออกไป ประสิทธิภาพจะดีหรือไม่จะขึ้นอยู่กับปริมาณผงซักฟอก ปริมาณน้ำและจำนวนของเสื้อผ้าที่ซัก ต้องกะประมาณให้พอดีสมดุลกัน อาจมองจากฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ได้ ถ้าเป็นการซักในเครื่องซักผ้า ก็จะทุ่นแรงลงไปได้ในเรื่องของการใส่ปริมาณผงซักฟอกและปริมาณน้ำเข้าไป เนื่องจากบางรุ่นจะมีการบอกไว้ที่หน้าปัดเครื่อง

แต่เมื่อซักเสร็จแล้ว น้ำที่เหลืออยู่หลายคนก็เอาไปสาดทิ้งลงบ้านคนอื่น บ้างก็เทลงในแม่น้ำ ในคลองไป บ้างก็เอาไปรดน้ำต้นไม้ และวิธีอื่นๆ อีกสารพัดวิธี ที่แต่ละคนหาวิธีทิ้งน้ำซักผ้า แต่บางวิธีมันเป็นการทำร้ายสิ่งแวดล้อมซึ่งถือว่าเป็นการกำจัดไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง

วิธีการกำจัดที่ถูกวิธี และเป็นวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การนำน้ำซักผ้าไปรดต้นไม้ เนื่องด้วยมี “ฟอสเฟต” อันเป็นปุ๋ยอย่างดีแก่พืชหลายๆ ชนิด ที่ใช้ฟอสฟอรัสจำเป็นต่อการเจริญเติบโต หรือการนำน้ำซักผ้าไปล้างทำความสะอาดห้องน้ำหรือพื้นที่บริเวณบ้านที่เป็นปูน โดยใช้หลักวิธีเดียวกันกับการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำในการทำความสะอาด การนำน้ำซักผ้าไปใช้ในการทำความสะอาดอุปกรณ์หรือสิ่งของรอบหนึ่งก่อนนำไปล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง จะเป็นการประหยัดการใช้น้ำไปได้จำนวนหนึ่ง

วิธีที่กล่าวมา สองวิธีหลังนั้นเมื่อใช้เสร็จจนหมดวิธีแล้วก็นำไปรดน้ำต้นไม้ได้ หรือทิ้งลงไปในท่อน้ำทิ้งของบ้าน อย่าเทลงไปในแหล่งน้ำสาธารณะไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ คลอง บึง หรืออื่นๆ เพราะว่าน้ำซักผ้าเหล่านี้จะทำให้น้ำส่งกลิ่นเหม็น อีกทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีในการก่อให้เกิดผักตบชวา จอก และแหนขึ้นมาปิดผิวน้ำ ทำให้แสงแดดไม่สามารถส่องลงไปในพื้นน้ำ ส่งผลให้ออกซิเจนที่ละลายในน้ำมีปริมาณลดลง ต่อเนื่องให้พืชน้ำและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่พลอยมีผลต่อการใช้ชีวิต บ้างก็ตายลง บ้างก็ต้องอพยพออกจากบริเวณนั้นไป สุดท้ายแล้วน้ำเหล่านี้ก็จะเป็นตัวก่อโรคให้กับคนในชุมชนได้อีกเช่นกัน เช่น การนำน้ำในบริเวณดังกล่าวมาอุปโภคบริโภค หรือการที่พาหะนำโรคต่างๆ เกิดมาในแหล่งน้ำนี้ เป็นต้น

ดังนั้นแล้วการใช้สิ่งใดนั้น ต้องรู้จักวิธีการกำจัดที่ถูกต้องภายหลังมันถูกแปรเปลี่ยนเป็นของเสีย เพื่อให้สิ่งแวดล้อมของเราที่อาศัยอยู่น่าอยู่ยิ่งขึ้น และเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย

นักเขียนเดินดิน
2 กรกฎาคม 2559 19.43 น.

Leave a comment