“อัธยาศัยดี” Vs. “สันโดษ”

“อัธยาศัยดี” และ “สันโดษ” เป็นนิสัยที่เหมือนกันและแตกต่างกันในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าคนสองนิสัยนี้อาศัยในสังคม ในชุมชนเดียวกันนั้น ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่มีการปะทะทางร่างกายและอารมณ์จนทำให้เสียสุขภาพกายและจิตได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราเรียนรู้และความรู้สึกของผู้คนแต่ละคนได้มากน้อยเพียงใด

คนที่ “อัธยาศัยดี” จัดว่าเป็นคนที่มีสุขภาพจิตที่ดี เนื่องด้วยมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น ยิ้มแย้ม แจ่มใสและเบิกบาน ในขณะที่คนที่ “สันโดษ” โดยทั่วไปความหมายที่แท้จริง หมายถึง การรักความสงบแต่รู้จักช่วยเหลือและดูแลผู้อื่น แต่ในปัจจุบันทั่วไปมักจะตีไปอีกหนึ่งความหมาย คือ การรักความสงบ ชอบอยู่ตัวคนเดียว ไม่จำเป็นต้องให้ใครช่วยเหลือและไม่ต้องไปช่วยเหลือใคร ในความหมายนี้เหมือนจะเป็นคนที่มีทิฏฐิและถือตัวไปในตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใจว่า คนสองนิสัยนี้ เหมือนจะอยู่ด้วยกันได้ แต่ก็แตกต่างในด้านทัศนะทางอารมณ์ เมื่อฝั่งหนึ่งเหมือนเปิดใจออกกว้างพร้อมรับกับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ขณะที่อีกฝั่งกลับทำตัวเหมือนยกกำแพงอิฐมอญมาตั้งปิดแปดทิศ ไม่รับรู้ รับฟัง ปิดใจไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้น บางครั้งเลยเกิดภาพเหมือนคนหนึ่งพูดอยู่ตลอด แล้วอีกคนเอามือปิดหู จนกระทั่งคนพูดเบื่อและเลิกพูดไปเอง

มันจึงเป็นปัญหา.. แต่ปัญหานั้นไม่ได้ตกลงไปยังคนที่ “อัธยาศัยดี” แต่กลายเป็นปัญหาทางใจและการเข้าสังคมของคนที่รักความ “สันโดษ” ในตัวเอง ถึงแม้จะถือตัวว่าอยู่คนเดียวได้ แต่ว่าบางครั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ในบางเรื่อง ต้องอาศัยผู้อื่นในสังคมเข้ามาช่วยเหลือ การแก้ปัญหานี้จึงต้องอาศัยคนที่มีปัญหาเอง ยอมลดความมั่นใจว่าตัวเองอยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ได้ลงมา เปิดใจรับฟังผู้อื่น และเป็นฝ่ายเดินหน้าเข้าหาขอความช่วยเหลือด้วยตัวเอง

อีกหนึ่งเรื่อง อันเป็นปัญหาของคนที่ “สันโดษ” คือ ขาดแรงผลักดัน แรงกระตุ้นในตัวเองในการทำสิ่งต่างๆ เมื่อล้มเหลวและท้อแท้ เพราะว่าการไม่มีมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น ประกอบกับนิสัยการเก็บตัวคนเดียว ทำให้ขาดแรงกระตุ้นและแรงใจในการทำงาน และอาการเบื่อหน่ายในชีวิตก็จะตามมาหากปล่อยทิ้งระยะไว้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้แบบเดียวกับการแก้ปัญหาของการเข้าสังคมไม่ได้ นอกจากนี้ควรก้าวข้ามคำว่า “สันโดษ” ที่ผิดๆ ออกมาเผชิญโลกภายนอก อยู่กับโลกที่กำลังหมุนไป เรียนรู้เผื่อจะอยู่ร่วมกับผู้อื่น มันคงดีกว่าการเก็บตัวเองไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของบ้านตลอดเวลา เพราะยิ่งเกิดอารมณ์เครียด ยิ่งจะสุ่มเสี่ยงเสียสุขภาพมากเท่านั้น เนื่องจากไประบายที่ไหนก็ไม่อยากไป และความเชื่อมั่นในตัวเองจากที่เต็มเปี่ยมจะลดหายไปเกือบหมด

การอยู่ร่วมกันของ “อัธยาศัยดี” และ “สันโดษ” ที่ง่ายที่สุด คือ การยกกำแพงกั้นอารมณ์ทั้งสองออกจากกัน และหันหน้าทักทาย พูดคุยกัน เรียนรู้ และเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของแต่ละคนในสังคม รู้จักปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพ แต่หากวันนี้แรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนนิสัยยังไม่มี คงได้แต่แนะนำให้นอนหลับสักคืน แล้วน่าจะได้ความคิดที่ดีๆ ในการปรับตัวกับสังคมนี้ ที่แม้ว่าจะโหดร้ายและทารุณเพียงใด ย่อมมีสังคมที่สวยงามเสมอ

“เรียนรู้และเข้าใจ เป็นพื้นฐานของความสุขของการอยู่ร่วมกัน”

นักเขียนเดินดิน
28 มิถุนายน 2559 15.52 น.

Leave a comment