หม้อดิน

หม้อดิน ภาชนะที่เกี่ยวข้องกันในวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ปัจจุบันมีการคิดค้นหม้ออะลูมิเนียม หม้อสแตนเลส ตลอดจนหม้อเคลือบต่างๆ แล้วนั้น หม้อดินเผา ไม่ว่าจะดินแดงหรือดินขาวต่างยังได้รับความนิยมในการใช้งานของคนในยุคนี้สมัยนี้เช่นกัน

ในการประกอบอาหารสมัยอดีต จะนิยมใช้หม้อดินเป็นภาชนะในการประกอบอาหารโดยเฉพาะอาหารในหลายๆ ประเภท ทั้งต้มจืด แกง ขนมหวานต่างๆ เช่น ปากริมไข่เต่า ฯลฯ นอกเหนือจากอาหารแล้ว หม้อดินยังถูกนำไปใช้ในการต้มยาชุดยาซองต่างๆ อีกด้วย และยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อของคนในสมัยก่อนจะใช้ในทางไสยศาสตร์อีกด้วย

ในปัจจุบัน แม้จะมีหม้ออะลูมิเนียม หม้อสแตนเลส หรือหม้อที่ทำจากวัสดุอื่นๆ แล้วนั้น หม้อดินยังคงได้รับความนิยมในทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากว่าหม้ออะลูมิเนียม หม้อสแตนเลส หรือหม้อที่ทำจากวัสดุอื่นๆ จะทดแทนหม้อดินได้ เพราะหม้อสแตนเลส หรือหม้ออะลูมิเนียมนั้น สามารถทนความร้อนจากการประกอบอาหารได้มากขึ้น และช่วยให้ความร้อนกับอาหารได้เร็วมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ความแตกต่างระหว่างการใช้หม้อเหล่านั้นกับหม้อดิน คือ ความหอมและการใช้ไฟในการประกอบอาหาร ขณะประกอบอาหารนั้น หากเป็นดินที่ดีๆ มาทำหม้อดินนั้น จะมีกลิ่นของดินเข้ามาผสมอยู่กับอาหารอีกด้วย ทำให้อาหารหอมชวนรับประทานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ภาชนะอุปกรณ์ที่ใช้ควบคู่กับหม้อๆ นั้นก็มีความแตกต่างกัน โดยหม้อดินจะใช้กระบวยหรือกระจ่า ที่ทำมาจากกะลามะพร้าวเพื่อคน เคี่ยว หรือตักของที่อยู่ในหม้อดินขึ้นมา ส่วนหม้อสแตนเลส หม้ออะลูมิเนียม มักจะใช้ทัพพีที่ทำมาจากพลาสติก ไม้ หรือว่าสแตนเลส กระบวยสแตนเลส/อะลูมิเนียม เพื่อคน เคี่ยว หรือตักของที่อยู่ในหม้อ ซึ่งกระบวย กระจ่าที่ทำมาจากกะลามะพร้าวก็สามารถมาใช้กับหม้อสแตนเลส หม้ออะลูมิเนียมได้ แต่ว่าทัพพี กระบวยที่ทำจากสแตนเลส/อะลูมิเนียม จะไม่สามารถไปใช้กับหม้อดินได้มากนัก เพราะความคมของขอบอาจจะทำให้หม้อดินร้าวและแตกได้ ความพิเศษของหม้อดินอีกอย่างหนึ่ง คือ “ฝาละมี” เป็นฝาที่ใช้ปิดภาชนะได้สารพัดภาชนะ ซึ่งแน่นอนว่าฝาละมีนอกจากปิดหม้อแล้ว ไปปิดจาน ชาม ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ซึ่งจะคล้ายกับฝาหม้อในปัจจุบันที่ปิดจาน ชาม และภาชนะอื่นๆ ได้เช่นกัน (แต่ฝาละมีจะมีการวางขายแยกเป็นฝาๆ อีกด้วย)

ส่วนถ้าหม้อดินแตก หัก ร้าว ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ ได้ เช่น กระถางต้นไม้ ที่ตักน้ำ หรือแม้กระทั่งอิฐเสริมกระถางหรือถังที่ตั้งบริเวณที่ไม่เสมอกันก็สามารถทำได้

และนี่คือ “หม้อดิน” ที่อยู่กับคนมาช้านาน

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ.  เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก เล่ม 1.  พิมพ์ครั้งที่ 12.  สหมิตรออพเซท : กรุงเทพฯ, 2534.

นักเขียนเดินดิน
12 กรกฎาคม 2559 19.31 น.

Leave a comment